องค์กรชั้นนำภาคธุรกิจ ชู “ESG” เป็นแนวคิดสำคัญในการดำเนินธุรกิจยุคใหม่

2 กันยายน 2565

Redefining the future “ESG” in Thailand

องค์กรชั้นนำภาคธุรกิจ ชู “ESG” เป็นแนวคิดสำคัญในการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ ด้าน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เผย “ESG” เป็นแนวคิดที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

จากงานสัมมนาออนไลน์ Redefining the future “ESG” in Thailand (ESG นิยามใหม่สู่อนาคตแห่งความยั่งยืน) จัดโดย The Nation และ Asia News Network: ANN เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565

โดยมีวิทยากร และผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์ชั้นนำของไทยและต่างประเทศ มาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการนำ “ESG” (Environmental Social and Governmental) มาปรับใช้ เพิ่มสร้างความยั่งยืนและเติบโตให้กับบริษัท พร้อมยกระดับธุรกิจไปสู่มาตรฐานสากลและเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน

พร้อมกันนี้ยังได้รับเกียรติจาก ฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แสดงวิสัยทัศน์พิเศษให้หัวข้อ “นำแนวคิด “ESG” สู่การพลิกโฉมกรุงเทพมหานคร”

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า กทม. ได้นำแนวคิด ESG มาใช้ในการบริหารเมือง สาธารณสุข การจัดการสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนความคิดสร้าง และการศึกษา ซึ่ง “ESG” เป็นแนวคิดที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

ในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) กทม. ได้ริเริ่มแนวคิดเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เช่น การปลูกต้นไม้ 1 ล้านตัน และการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 รวมถึงยังได้ริเริ่มโครงการ BMA net-zero เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

“การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ กทม. ต้องเริ่มคุยเรื่อง BMA net-zero มิเช่นนั้นการแก้ไขปัญหาจะไม่ยั่งยืน” ชัชชาติกล่าว

สำหรับด้านสังคม (Social) นั้น กทม. ให้ความสำคัญในการปรับปรุงการบริการเพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีควบคู่ไปกับการส่งเสริมความเท่าเทียมในหลายมิติ รวมถึงไปถึงการส่งเสริมความเท่าเทียม ซึ่งมีความสำคัญต่อการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

นายชัชชาติยังกล่าวว่า กทม. ได้นำแพลตฟอร์ม “ทราฟฟี่ฟองดูว์” มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานในสังกัด นอกจากนี้ กทม. ยังเปิดเผยข้อมูลการทำงานเพื่อความโปร่งใสขององค์กรอีกด้วย และทิ้งท้ายว่าเมืองเปรียบเสมือนตลาดแรงงาน กทม.ไม่ได้สร้างตลาดแรงงาน แต่เอกชนต่างหากที่เป็นผู้สร้าง ดังนั้นความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในอนาคต นายชัชชาติกล่าวทิ้งท้าย

แนวคิด ESG คือหัวใจบริหารธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นักลงทุนกำลังให้ความสนใจในองค์กรที่นำแนวคิด ESG มาใจในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งแนวคิด ESG กำลังเป็นเทรนด์โลกซึ่งทุกองค์กรควรทำทันที

หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ยังแนะนำนักลงทุนให้ลงทุนในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงในทุกมิติ นอกจากนนี้ยังแนะนำให้องค์กรใช้แนวคิด ESG เป็นเครื่องมือในการค้นหาโอกาสและหุ้นส่วนใหม่ รวมถึงการพัฒนาองค์กรให้มีความยั่งยืน

“แนวคิด ESG ช่วยให้องค์กรสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าหากองค์กรไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม หรือธรรมาภิบาล มันอาจจะส่งผลร้ายต่อองค์กรในที่สุดได้” ดร.ศรพลกล่าว

ในขณะเดียวกันนาย Goh Jia Kai ผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์ Accenture ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่าความยั่งยืนช่วยเพิ่มมูลค่าขององค์กรในด้านการเติบโตของรายได้ การลดต้นทุน ภาพลักษณ์ของแบรนด์ และการบริหารความเสี่ยง

นาย Goh ยังกล่าวด้วยว่า SME ที่มีศักยภาพหลากหลายสามารถร่วมมือกันเพื่อบรรลุ ESG ความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

โมเดลธุรกิจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่าหลายองค์กรกำลังขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ net-zero เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งองค์กรที่ไม่ขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจ net-zero กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง

“ร้อยละ 65 ของซีอีโอทั่วโลกกล่าวว่าพวกเขาได้เริ่มพัฒนาโมเดลธุรกิจ net-zero แล้ว นอกจากนี้ องค์กรที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐกำลังขับเคลื่อนในเรื่องนี้” นางสาวธันยพรกล่าว

เทคโนโลยีและความร่วมมือในการสร้างความยั่งยืน

นายวีรกร สายเทพ Digital Construction Director บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด บริษัทในเครือเอสซีจี (CPAC-SCG) กล่าวว่าเอสซีจีได้ลงทุนระยะยาวในแนวคิด ESG และกำหนดโร้ดแมปสำหรับเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการจัดการพลังงาน น้ำ และของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี (BIG) กล่าวว่าบริษัทจำเป็นต้องนำนวัตกรรมที่ลดการใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าเพราะกระบวนการผลิตออกซิเจนและไฮโดรเจนใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก และยังได้ดำเนินผลิตพลังงานทางเลือกให้กับบริษัทพลังงานชั้นนำในประเทศอีกด้วย

ด้านนาย Anthony Watanabe รองประธานและหัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม Indorama Ventures หรือ IVL กล่าวว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการนำแนวคิด ESG มาใช้กับองค์กรคือการให้ความรู้เกี่ยวกับพลาสติกพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate: PET) แก่ประชาชนซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบัน IVL สามารถโน้มน้าวให้ประชาชนทั่วโลกใช้งานพลาสติกอย่างถูกวิธีเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

แนวคิด ESG ช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

นาย Marco Toscano-Rivalta หัวหน้าสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disaster Risk Reduction: UNDRR) กล่าวว่าโลกกำลังเผชิญกับการสูญเสียของมนุษย์ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจากภัยพิบัติ ซึ่งแนวคิด ESG มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ภาครัฐและเอกชนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน นอกจากนี้ยังแนะนำให้องค์กรปรับแนวคิด ESG ให้เข้ากับบริบททางเศรษฐกิจและภัยพิบัติ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ

นางสาวอภิญญา สิระนาท หัวหน้าฝ่ายงานวิจัย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UN Development Program: UNDP) กล่าวเสริมว่า นอกจากแนวคิด ESG แล้ว SDGs ยังช่วยให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยระบุว่าหากองค์กรดำเนินงานตามแนวทาง SDGs ก็จะพบว่ามีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต และการลงทุนด้าน ESG จะช่วยให้องค์กรปลดล็อกวิธีการทำธุรกิจรูปแบบใหม่

ขณะที่นางสาว Cosima Stahr ที่ปรึกษาอาวุโส Adelphi Research กล่าวว่าแนวคิด ESG ช่วยให้องค์กรบริหารงบประมาณและก้าวข้ามขีดจำกัดในปัจจุบัน โดยเมื่อองค์กรตระหนักถึงจุดอ่อนและคุณค่าของธุรกิจ องค์กรจะเข้าใจวิธีการบริหารการเงินและการลงทุนในระยะยาวเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนและสังคมที่เท่าเทียม พร้อมแนะนำให้องค์กรและบริษัทนำแนวคิด ESG มาใช้ในแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อฟื้นฟูธุรกิจในระยะยาว


Share: