ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายมากกว่าปัญหาการขาดแคลนทางพลังงาน ทั้งนี้ปัญหาโลกร้อนเป็นต้นทุนที่ไม่สามารถประเมินได้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างจุดเปลี่ยนของภาคธุรกิจในการก้าวตามเมกะเทรนด์ของโลก
นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์ของบีไอจีเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแยกอากาศ เช่น ออกซิเจนที่ใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ หรือไนโตรเจนที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ได้จากอากาศโดยตรง เช่น ไฮโดรเจน โดย แอร์โปรดักส์ บริษัทแม่ของบีไอจีในสหรัฐฯ เป็นผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำและปราศจากคาร์บอนอันดับ 1 ของโลก ซึ่งบีไอจีได้ขยายธุรกิจด้วยการนำนวัตกรรมด้าน Climate Tech มาเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างครอบคลุมและเบ็ดเสร็จ
“ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง บีไอจีจึงต้องการเปลี่ยนภัยคุกคามนี้ให้กลับกลายเป็นโอกาสเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและคนไทยสามารถก้าวข้ามปัญหานี้ โดยบีไอจีเชื่อมั่นว่านวัตกรรมด้าน Climate Tech สามารถช่วยโลกได้ บีไอจีจึงมุ่งมั่นในการร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหานี้”
ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันมากมายและในขณะเดียวกัน ยังต้องเจอกับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น บีไอจีจะเข้าไปแก้ไขปัญหาที่ท้าทาย 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย
- การสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์โดยใช้ทรัพยากรน้อยลง
- การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิต และตอบโจทย์ราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
- การแก้ปัญหาความยั่งยืน ที่ไม่ได้แก้แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่จะมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)
ทั้งนี้ บีไอจี ได้ตั้งเป้าเป็นผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Company) ด้วยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทั้งการเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากเดิมที่ทำธุรกิจแยกอากาศสู่การนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา จากแรงบันดาลใจที่พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นภัยคุกคามทั้งภาคธุรกิจและมนุษย์ และมองเป็นภัยคุกคามจะสามารถกลายเป็นโอกาสสร้างธุรกิจให้เติบโตไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ผ่าน 4 เทคโนโลยี สำคัญ คือ
- ไฮโดรเจนเพื่อตอบรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ปัจจุบันใช้ลดการปลดปล่อยกำมะถันในดีเซลกลุ่มยูโร 4 และยูโร 5 จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมและมนุษย์สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างยั่งยืนโดย บีไอจี ร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของไทยที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
“ต่อไปจะผลักดันสถานีบริการไฮโดรเจนเบื้องต้นมองที่ จ.ระยอง โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งสถานีแรกใช้งบลงทุน 50 ล้านบาท และเตรียมลงทุนเพิ่มรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งการเติมไฮโดรเจนใช้เวลา 3-5 นาที ต่อการเติมไฮโดรเจน 3-5 กิโลกรัม และจะทำให้รถยนต์ไฮโดรเจนวิ่งได้ถึง 800 กิโลเมตร”
- แพลตฟอร์มที่ผ่านมาทุกคนคุ้นเคยแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าในชีวิตประจำวันโดยบีไอจีได้นำแพลตฟอร์มมาตอบโจทย์เป้าหมายเน็ตซีโร่ของภาคอุตสาหกรรม ด้วยการวัดการปล่อยคาร์บอนของภาคธุรกิจผ่านเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม 4.0 ผ่าน Internet of Things (IoT) รวมถึงการใช้พลังงาน การปล่อยคาร์บอน รวมถึงการลดการปล่อยคาร์บอนตามเป้าหมายของภาคธุรกิจ และซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านแพลตฟอร์มของบีไอจีและพาร์ทเนอร์
- นวัตกรรมการบำบัดน้ำเสียด้วยออกซิเจนบริสุทธ์ผ่านเทคโนโลยีทันสมัยจากสหรัฐฯเช่น ระบบ Pure Oxygen Aeration และโอโซนที่แก้ปัญหากลิ่น รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนปล่อยกลับสู่แหล่งน้ำ ดังตัวอย่างที่บีไอจีได้ร่วมมือกรุงเทพมหานคร ณ สวนเบญจกิติ ในการช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียอย่างยั่งยืน
- เทคโนโลยีการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization, and Storage: CCUS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนแล้วนำมากักเก็บในชั้นหินใต้ดินแบบถาวร หรือใช้เป็นวัตถุดิบผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงขึ้น ซึ่งประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายที่กำลังปล่อยคาร์บอนดังนั้น เทคโนโลยีจึงเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพลดการปลดปล่อยคาร์บอน และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
ทั้งนี้ บีไอจี ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสานรัฐและบริษัทเอกชนชั้นนำ จัดตั้ง CCUS Consortium อาทิ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและหาพื้นที่อื่นนอกเหนือจากอ่าวไทย
“ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจการแยกอากาศโดยทั่วไปอาจแค่นำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากอากาศไปให้กลุ่มอุตสาหกรรม แต่บีไอจีมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ด้วยนวัตกรรม Climate Technology มาตอบโจทย์ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน”
นอกจากนี้ อยากฝากรัฐบาลใหม่ที่ต้องเจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายในการบรรลุ Net Zero ภายในปี 2065 โดยภาครัฐต้องออกมาตรการภาษีคาร์บอน พร้อมส่งเสริมสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่มีส่วนร่วมผลักดันและสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เพราะหากไม่ทำหรือทำช้า จะส่งผลกระทบภาคส่งออก เนื่องจากสหรัฐหรือยุโรปมีมาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) ทั้งนี้ ภาครัฐต้องมองว่าภาคอุตสาหกรรมคือรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ และต้องเร่งดำเนินการมาตรการกำกับควบคุมดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ชัดในเร็ววัน
ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจการสร้างโอกาสของภัยคุกคามของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบีไอจีครบรอบ 35 ปี จึงร่วมกับ กรุงเทพธุรกิจ จัดสัมมนา Climate Tech Forum : Infinite Innovation… Connecting Business to Net Zero วันที่ 28 มิ.ย. 2566 เวลา 12.30-16.30 น. ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ โดยงานนี้จะเป็นงาน Carbon Neutral Event เชิญชวนให้เดินทางโดยรถสาธารณะ และบีไอจีเองได้เตรียมรถยนต์ไฮโดรเจนเตรียมบริการรับส่งจากสถานีรถไฟฟ้าราชดำริมายังโรงแรมในช่วงเวลาสัมมนา (ทั้งขาไป-ขากลับ)
ภายในงานจะนำเสนอแนวคิดจากภาครัฐและเอกชนถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เป็นระบบนิเวศทางธุรกิจ หรือ Ecosystem ในการนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนธุรกิจลดผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน อาทิ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.), กรุงเทพมหานคร, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ