>>>5 บิ๊กคอร์ป ชูนวัตกรรมธุรกิจยั่งยืน เร่งอีโคซิสเต็มหนุน ‘Net Zero’

5 บิ๊กคอร์ป ชูนวัตกรรมธุรกิจยั่งยืน เร่งอีโคซิสเต็มหนุน ‘Net Zero’

2024-01-04T11:41:49+07:00
  • Sustainability Forum 2024

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนาหัวข้อ “SUSTAINABILITY FORUM 2024” ระหว่างวันที่ 13-14 ธ.ค. 2566 โดยในช่วง Special Talk “ถอดสูตรธุรกิจ สู่ความยั่งยืน Digital Innovation for Sustainability” ได้มีการนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของบิ๊กคอร์ป ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกลกลสำคัญในการขับเคลื่อน

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคิล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG ยึดหลักความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง GC ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่มีหุ้นส่วนทั่วโลกและขนาดใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับการพาองค์กร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประเทศมุ่งสู่ความยั่งยืนจะต้องตอบสนองเมกะเทรนด์โลก ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาดที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่ง GC ต้องสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและตอบสนองความต้องการของลูกค้า

ทั้งนี้ GC เน้นกลยุทธ์สำคัญเพื่อสร้างการเติบโตและก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 ถือเป็นความท้าทายที่ทำได้ผ่านการเร่งความสามารถทางการแข่งขันที่มองความยั่งยืนมาบูรณาการร่วมกับการแข่งขัน

นอกจากนี้ GC ตั้งเป้า Net Zero ที่จะไม่สร้างภาระให้คนรุ่นหลัง ซึ่งต้องลดปริมาณคาร์บอนให้ได้ 50% โดยในพอร์ตโฟลิโอด้านผลิตภัณฑ์จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 20% ที่เหลือจะดักจับคาร์บอน หรือ Carbon Capture and Storage (CCS)

“แผนดำเนินงานต้องชัดเจน ซึ่งมีแผนการลงทุน 5-10 ปี ทั้งเงินลงทุน สัดส่วนการประหยัดพลังงาน ความมสามารถการแข่งขันต้องดีขึ้น การเก็บคาร์บอนแล้วนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์”

นายคงกระพัน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรยั่งยืนต้องสร้างพันธมิตร ตั้งแต่ต้นทาง ทั้ง องค์กร สังคม ชุมชน มหาวิทยาลัย รวมถึงภาครัฐ GC ถือเป็นองค์กรขนาดใหญ่ การร่วมมือกับชุมชน สร้างงาน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ดังนั้น โดยภาพรวมการที่บอกว่าดีทั่วโลกก็จะต้องดีด้วย ทุกกระบวนการที่ผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องคาร์บอนต่ำ คนที่มีส่วนร่วมทั้งหมดจะเกิดความภูมิใจ

“บีไอจี” ชูไฮโดรเจนทางเลือกใหม่

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวว่า บีไอจี เป็นบริษัทในเครือแอร์โปรดักส์ (Air Products) จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม

ทั้งนี้ บีไอจี ร่วมแชร์เทคโนโลยีผ่านเวที COP28 ซึ่งปี 2566 เห็นความร่วมมือทุกภาคส่วน แต่สิ่งที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งยิ่งทำมากยิ่งมีค่าใช้จ่าย แต่อีกข้างที่มองโอกาสผ่าน 3 แผนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งต้องนำมาเพื่อความเติบโตขององค์กร ต้องลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และต้องมาสู่โอกาสที่ได้ดูแลสังคม มีความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม บีไอจี ได้นำเอาเทคโนโลยี Climate Technology มาช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านนวัตกรรม อาทิ เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS) และเทคโนโลยีไฮโดรเจน ซึ่งบีไอจีตั้งเป้า Net Zero ปี ค.ศ. 2050 ปัจจุบันลดได้แล้ว 25%

สำหรับสิ่งสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ คือ 1. การลงมือทำในสิ่งที่เชี่ยวชาญ 2. ลงมือแล้วต้องทำให้ใหญ่เพราะต้นทุนพลังงานสะอาดสูง 3. ทำเป็นคนแรก

ดังนั้น บีไอจีต้องผลักดันไฮโดรเจนที่ขณะนี้ทำในรูปแบบพลังงานเป็นเชื้อเพลิงให้ยานยนต์ เครื่องบิน อุตสาหกรรมเหล็กและเคมี ซึ่งใช้พลังงานสูง

นอกจากนี้ ไฮโดรเจนเป็นธุรกิจใหญ่มีการผลิตใช้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่สหรัฐและไทยราว 3 ล้านตันต่อปี และมีแผนเพิ่มอีก 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งการลงทุนในต่างประเทศ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนในไทยลงทุน 45 ล้านดอลลาร์ โดยการลงทุนในสหรัฐใช้วิธีผลิตเป็นแอมโมเนียเพื่อขนส่งได้ทั่วโลก

“ไทยสามาารถทำคาร์บอนต่ำ 95% โดยร่วมกับกลุ่ม ปตท. โตโยต้า ลดการปลดปล่อยกำมะถัน เปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) แห่งแรกของไทยที่ อ.บางละมุง”

นายปิยบุตร กล่าวว่า อีกเทคโนโลยีคือ Platform เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่ตรวจจับว่าภาคอุตสาหกรรมปล่อยคาร์บอนปริมาณเท่าไหร่ รวมถึงการตรวจจับการใช้พลังงาน วิธีการลดคาร์บอนในรูปแบบตามความเหมาะสมของธุรกิจ และซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านแพลตฟอร์มของบีไอจีได้

“ดับบลิวเอชเอ” เร่งโมเดลธุรกิจยั่งยืน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาเจอคำถามเยอะมากว่าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเมกะเทรนด์ความยั่งยืน เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือการลงทุนกันแน่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีความกังวลว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้น

“ดับบลิวเอชเอเรามองว่า Climate Change ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย และไม่ใช่แค่การทำเพื่อลดต้นทุน แต่เป็นการลงทุน และโอกาสในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ทั้งยังได้กลุ่มลูกค้าใหม่”

รวมทั้งได้ประกาศแคมเปญ WHA : WE SHAPE THE FUTURE ซึ่งเกิดจากการต่อยอดการใช้แนวทางการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน สะท้อนความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี การสร้างคน และการเข้าถึงโอกาส ผ่านการดำเนินงานของ 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจน้ำและพลังงาน และธุรกิจดิจิทัล

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะสนับสนุนการต่อยอดพัฒนาโซลูชันทางธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเสริมความสามารถในการแข่งขันและผลักดันให้ไทยกลายเป็น The World’s Best Investment Destination สำหรับนักลงทุนทั่วโลก

นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน 3 มิติ พร้อมกัน ทั้งมิติสังคม ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

โดยตั้งเป้าขับเคลื่อนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของทุกชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050 การพัฒนาธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น พลังงานสะอาด การทำโครงการ Circular Economy เพื่อให้สอดคล้องนโยบาย BCG การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ

ทั้งนี้ ปัจจุบันมี 3 โครงการ คืบหน้าชัดเจนเป็นรูปธรรม ได้แก่ Green Logistics ที่นำเทคโนโลยีสีเขียวมาปรับใช้กับกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดการการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

Digital Health Tech การพัฒนาแอปพลิเคชัน WHAbit เป็นเครื่องมือดูแลด้านสุขภาพผ่านระบบดิจิทัลที่ช่วยให้ผู้สมัครใช้บริการ สามารถจัดการสุขภาพแบบองค์รวมได้ง่ายขึ้น

Circular Economy การซื้อขายแลกเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้จากผู้ประกอบการหนึ่งไปยังผู้ประกอบการหนึ่ง เพื่อการจัดการวัสดุเหลือใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น รวมทั้ง WHA Emission Trading จะเป็นตัวกลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นโซลลูชันที่ส่งเสริมการลดปริมาณคาร์บอนในอุตสาหกรรม

‘ซีเมนส์’ ชี้ ‘นวัตกรรม’ อาวุธสำคัญ

นางสุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาด้านความยั่งยืน โดยมีส่วนสำคัญต่อทั้งการเพิ่มความเร็ว ลดต้นทุน ตอบโจทย์ธุรกิจที่มีความแตกต่างหลากหลาย เรื่องของงบประมาณการลงทุนที่หลายฝ่ายมองว่ามีต้นทุนที่สูง เรื่องนี้ขอให้มองเป็นสองด้าน มุมหนึ่งคือความยั่งยืน และอีกมุมคือการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

“การลงทุนจะได้ทั้งเรื่องของความยั่งยืนและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน นอกจากจะมีการคืนทุนอย่างแน่นอนแล้ว ยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับธุรกิจด้วย”

สำหรับซีเมนส์ ในฐานะเอนจิเนียริงคอมพานี จุดเร่ิมต้นจะมองที่ตัวเองก่อน จากนั้นมีการประสานงานเพื่อนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้กับทั้งเรื่องของการบริหารจัดการและในทุกๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง จนวันนี้เชื่อว่าสามารถประสานโลกความเป็นจริงกับโลกดิจิทัลไว้ด้วยกัน กระทั่งเดินหน้าไปได้ดีตามเป้าหมายที่วางไว้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาให้ความสำคัญอย่างมากกับการกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยในทุกมิติ ปัจจุบัน มากกว่า 90% ของธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการ สามารถตอบโจทย์และสอดคล้องไปกับเป้าหมายเรื่องของความยั่งยืน

ด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นตัวช่วยเช่น Digital Twin, Metaverse, นวัตกรรมอัจฉริยะต่างๆ รวมถึง GenAi ซึ่งได้ร่วมมือกับทางไมโครซอฟท์นำความอัจฉริยะมาช่วยโลกใบนี้

พร้อมระบุว่า ปัจจุบันนอกจากปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นแล้ว ทรัพยากรยังมีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอ จากตัวเลขพบว่าความต้องการใช้งานมีมากกว่าที่สามารถผลิตได้ถึง 1.7 เท่า ดังนั้นหากถามว่า “ต้องเริ่มดำเนินการเมื่อไรดี” คงต้องบอกว่า “ไม่มีคำว่ารอแล้ว”

“แสนสิริ” ชู 3 กลยุทธ์สู่เป้าหมาย Net Zero

นายอุทัย อุทัยแสงสุขประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องของความยั่งยืน (sustainability) หรือแนวคิดความยั่งยืน “ESG” (Environmental, Social, Governance) แสนสิริได้นำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 90%

“จากการเก็บข้อมูลพบว่า ตัวเลขการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากที่สุด คือบ้านของลูกค้าที่มีการใช้พลังงานภายในบ้านล่วงหน้าถึง60ปีข้างหน้าพบว่าแต่ละปีลูกบ้านมีการใช้พลังงานทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 2,788,279 ตันต่อปี และเกี่ยวพันกับการสร้างบ้าน รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ”

โดยแสนสิริ ตั้งเป้าหมายสูงสุดสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือ Net Zero ให้ได้ภายในปี 2593 ผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่

1. Green Procurement :การเลือกใช้วัสดุ Green Product และเลือกคู่ค้าที่ใส่ใจกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ใช้วัสดุในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

2. Green Architecture and Design : การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน สร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย เช่น Cool Living Designed Home นวัตกรรมบ้านเย็นช่วยประหยัดพลังงาน,Zero Waste Design การออกแบบที่ลดการสิ้นเปลืองและลดปริมาณขยะให้มากที่สุด,Universal Design การออกแบบเพื่อทุกคน ทุกวัย Well Being ด้านคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดของผู้อยู่อาศัย สะอาดปราศจากเชื้อโรค เสริมสร้างที่อยู่อาศัยด้วยนวัตกรรมเพื่อโลกเพื่อสิ่งแวดล้อม

3. Green Construction :ที่มีขั้นตอนก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อโลก ลดระยะเวลาสร้าง ลดฝุ่น ลดขยะ ลดการปล่อยคาร์บอน

นายอุทัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาแสนสิริลงทุนในธุรกิจรายเล็กที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับแพลตฟอร์มแหล่งพลังงานทดแทน โดยร่วมกับ ion Energy อันดับ 1 ติดตั้ง Solar Panel มากที่สุดในอสังหาฯไทย จากปี2565 จำนวน 700 หลัง ปี2566 จำนวน 1,800 หลัง และในปี2567 จำนวน 3,300 หลัง นอกจากนี้แสนสิริยังได้ร่วมกับ Sharge อันดับ 1 ติดตั้ง EV Charger มากที่สุดในวงการอสังหาฯไทยจากปี 2565 จำนวน 400 หลัง ปี2566 จำนวน 1,050 หลังและในปี 2567 จำนวน 1,800 หลัง


Share:
บริษัทใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ bigth.com ของท่านที่ดีกว่าเดิม ในการใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าท่านยอมรับการใช้คุกกี้ตามที่ระบุใน มาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยอมรับ